loading
ลงทะเบียนนัด DEMO ออนไลน์
เจ้าหนี้เฮ สรรพากรลดค่าธรรมเนียม โอนเหลือ 0.01%
: 15 มกราคม 2564 | :

เจ้าหนี้เฮ สรรพากรลดค่าธรรมเนียมโอนเหลือ 0.01% หนุนปรับโครงสร้างหนี้ แบงก์เด้งรับช่วยลูกหนี้ได้ควบคู่ ทั้งรายที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย และที่เป็นเอ็นพีแอลแล้ว ช่วยลดต้นทุนผู้ซื้อหลักประกันและการโอนทรัพย์ชำระหนี้ด้วย แผนตั้ง warehousing ไม่ง่าย

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีแนวคิดที่จะนำสินทรัพย์ของลูกหนี้สถาบันการเงินเข้าสู่การพักกิจการชั่วคราว หรือ warehousing (โกดังเก็บหนี้) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังมีประเด็นที่ต้องหาข้อสรุปอีกมาก ทั้งคนที่จะเข้ามาคํ้าประกัน หรือราคาขายสินทรัพย์ที่ยอมรับได้ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้  และจะต้องเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล แต่ยังติดเงื่อนไขเรื่องการขอยกเว้นภาษีในการตีโอนชำระหนี้

 

ล่าสุดนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดี ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่า ด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่623) พ.ศ.2559

 

โดยสถาบันการเงินและลูกหนี้ของสถาบันการเงินต้องร่วมกันจัดทำหนังสือรับรองหนี้ ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ ธปท.ประกาศกำหนดตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่2) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธปท. กำหนดลงวันที่ 28 ธันวาคม 2563 โดยประกาศดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

 

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินระบุว่า ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับล่าสุด มีผลดีต่อการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งลดค่าธรรมเนียมจดจำนอง ค่าธรรมเนียมการโอน จะเหลือเพียง 0.01% เป็นอัตราที่ถูกมาก เพราะต้องการช่วยเหลือลูกหนี้ให้เป็นเอ็นพีแอลน้อยลง โดยทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้และคนซื้อทรัพย์ที่ติดจำนองกับสถาบันการเงินจะได้รับอานิสงส์ส่วนลดค่าธรรมเนียมการโอน ค่าธรรมเนียมจดจำนอง เท่าที่ชำระหนี้กับเจ้าหนี้

 

เช่น ทรัพย์หลักประกันมูลค่า 10 ล้านบาท แต่ชำระหนี้แค่ 5 ล้านบาท โดยจะได้รับอานิสงส์ในส่วนยอดการชำระหนี้คือ 5 ล้านบาท แต่ส่วนที่เกินหรือส่วนที่เหลือจาก 5 ล้านบาทยังต้องชำระค่าธรรมเนียม โดยไม่ได้รับการยกเว้นเรื่องส่วนลดแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้ผลพวงจากเศรษฐกิจและวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินและเจ้าหนี้รายอื่นตามจำนวนเงินหรือระยะเวลาที่กำหนดได้ ซึ่งต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

 

ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อ 7 มกราคม 2563 และ 24 มีนาคม 2563 ให้ลดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ครม.กำหนดเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

 

กรณีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว เป็นการออกประกาศเพิ่มเติมเรื่องมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ซึ่งมติครม.ที่ผ่านมา ได้มีมติเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี กรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 2 ประเภทคือ เอ็นพีแอล กับหนี้ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล (stage2) ซึ่งที่ผ่านมามีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับแรก เรื่องมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียม กรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลไปแล้ว

 

ดังนั้น หลังจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากรออกมาจะช่วยกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลจะได้รับการช่วยเหลือด้วย ซึ่งสามารถทำควบคู่กับหนี้เอ็นพีแอลได้

 

 

“ตอนนี้ยังมีลูกหนี้เกี่ยวกับท่องเที่ยว ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ถ้ามีลูกหนี้รายไหน ต้องการจะโอนอสังหาริมทรัพย์ชำระหนี้ ลูกหนี้รายดังกล่าว ก็จะไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่าย เพราะจะได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีอากร คือ เป็นการโอนทรัพย์มาพักไว้ก่อน เมื่อลูกหนี้มีความพร้อมและฟื้นตัวได้ก็สามารถกลับมาซื้อทรัพย์ดังกล่าวคืน หรือในอนาคตสถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้กลับมาซื้อทรัพย์คืนก็ได้” แหล่งข่าวกล่าว

 

อย่างไรก็ตามลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล หนี้ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมด ในส่วนนี้จะครอบคลุมทั้งลูกหนี้เอ็นพีแอลและลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล ซึ่งกรณีปรับโครงสร้างหนี้ เมื่อลูกหนี้โอนทรัพย์ชำระหนี้ลูกหนี้จะได้รับค่าใช้จ่าย ค่าโอนและค่าภาษี เช่น ค่าโอนและค่าภาษีลดเหลือเหลือ 0.01%

 

ส่วนแผนจัดตั้ง Warehousing Fund หรือ “กองทุนบริหารหนี้” นั้นไม่ง่ายและไม่เร็ว เพราะต้องใช้เวลากว่าจะผันเงินซอฟต์โลนของธปท. ซึ่งต้องมีกระบวนการออกพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติ กว่าจะดำเนินการเสร็จ ปัญหาการระบาดของโควิดอาจจะจบไปก่อน

 

อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดโควิดรอบนี้ ทางการควรต้องมีมาตรการช่วยเหลือ เพราะผลกระทบของโควิดทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้และต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งในทางปฎิบัติการขยายมาตรการผ่อนปรนของธปท.และรวมกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรื่องยกเว้นรัษฎากร น่าจะประคองลูกหนี้และสถาบันการเงินเจ้าหนี้ สามารถก้าวข้ามภาวะวิกฤติจากโควิดไปด้วยกันได้  

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,644 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2564

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.thansettakij.com/content/money_market/464226?as=
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อน กับ LINE @FEASY

เรื่องน่าสนใจ